มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ เกิดที่เมืองซัฟฟอร์ด รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 พออายุได้เพียง 2 เดือนต้องประสบอุบัติเหตุ โดยมีผู้เผลอทำน้ำยาเคมีหกราดใบหน้าทำให้ต้องเสียดวงตาทั้งสองข้าง ท่านได้รับการศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และประกาศนียบัตรวิชาครูภาษาอังกฤษจากทรีนิตีคอลเลจ กรุงวอชิงตัน
ในปี พ.ศ. 2466 ได้เดินทางไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาสังคมและการเมืองในประเทศญี่ปุ่น ในระยะนี้เอง มิสคอลฟิลด์ได้มีโอกาสพบกับนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น คุณหมอฝนทำให้มิสคอลฟิลด์ได้ทราบว่าสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทยยังไม่มีใครให้ความสนใจหรือดำเนินการช่วยเหลือในด้านการศึกษาให้อย่างจริงจัง และด้วยการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคุณหมอฝน มิสคอลฟิลด์จึงได้เดินทางมาสำรวจสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทยเป็นระยะสั้นๆในเวลาต่อมา และได้ตั้งใจว่าจะกลับมาช่วยเด็กตาบอดไทยให้ได้ แม้ด้วยทุนรอนและด้วยลำแข้งของตนเอง
ในปี พ.ศ. 2480 มิสคอลฟิลด์ได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ตระเวนแสดงปาฐกถาและสอนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งรวบรวมเงินทุนเบื้องต้นเพื่อการทำงานต่อในทวีปเอเชีย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2481 ได้เดินทางมาประเทศไทยโดยขึ้นเรือที่ประเทศสิงคโปร์และนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ
มิสคอลฟิลด์ได้เริ่มงานพัฒนาคนตาบอดไทย โดยการจัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กตาบอดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ที่บ้านหลังเล็กๆ ในซอยศาลาแดง สีลม ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และร่วมกันกับนักศึกษาไทยประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้นเมื่อเทียบกับอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษซึ่งมีพยัญชนะและสระรวมกัน 26 ตัวแล้ว ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เพราะอักษรเบรลล์ภาษาไทยมีพยัญชนะ 44 ตัว สระ 32 รูป วรรณยุกต์ 5 เสียง รวมทั้งเครื่องหมายต่างๆอีก 4 รูป และด้วยความคิดที่ก้าวไกล มิสคอลฟิลด์ได้วางแนวทางที่จะจดทะเบียนมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยด้วย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องโยกย้ายนักเรียนตาบอดหลบภัยสงครามที่ราชบุรีและหัวหิน เมื่อสงครามสงบแล้วจึงย้ายกลับกรุงเทพฯตามเดิม
ในปี พ.ศ. 2490 มิสคอลฟิลด์ได้ขอให้ซิสเตอร์คณะซาเลเซียนมาช่วยดูแลนักเรียนแทน ในช่วงที่เดินทางไปญี่ปุ่นอีก 5 ปีต่อมาจึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทยและพำนักที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งได้ย้ายมาตั้งอยู่บนพื้นที่ 8 ไร่ ถนนราชวิถี ซึ่งรัฐบาลสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้จัดหาให้ มิสคอลฟิลด์ได้เข้าช่วยงานในฐานะครูสอนหนังสือเด็กๆ และที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ โดยเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างให้มูลนิธิฯเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ มิสคอลฟิลด์ได้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดที่ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2499 และที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2503 ต่อมาได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล ด้วยผลงานอันมีค่ายิ่งต่อคนตาบอดนี้เองจึงทำให้ท่านได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้
มิสคอลฟิลด์ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลคามิลเลียน สุขุมวิท กรุงเทพฯ ด้วยโรคชราภาพ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 สิริอายุ 84 ปี ร่างของท่านฝังไว้ ณ สุสานสามเสนในประเทศไทยอันเป็นแผ่นดินที่ท่านรักนี้เอง คณะศิษย์ตาบอดต่างสำนึกในพระคุณของมิสคอลฟิลด์ในฐานะผู้ให้กำเนิดการศึกษาของคนตาบอดในประเทศไทย จึงได้หาทุนและดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของท่าน ซึ่งประดิษฐาน ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กระทำพิธีเปิดโดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2526 ปฏิมากรคืออาจารย์มีเซียม ยิบอินซอย และได้จัดการชุมนุมศิษย์ตาบอดตลอดจนมิตรสหายของมิสคอลฟิลด์ ในวันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงมีพระราชภารกิจหนักมากเพียงใดก็ตาม หากแต่พระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระองค์ท่านปกแผ่พระเมตตาเหนือเกล้าพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยทั่วถึงซึ่งไม่เว้นแม้แต่ผู้ด้อยโอกาสเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการทางการเห็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพหลายครั้งหลายครา ทั้งการเสด็จฯ อย่างเป็นทางการเมื่อครั้งที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพเชิญเสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานในการจัดงานของโรงเรียน และเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์มาพระราชทานผลไม้ ขนม ของเล่นให้กับนักเรียนตาบอดเสมอมา โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดเป็นการส่วนพระองค์เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2494 นั้น ได้สร้างความปลาบปลื้มยินดีมาสู่ดวงใจทุกดวงของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง
การเสด็จฯ ในครั้งนั้น คณะกรรมการมูลนิธิฯ ครู และนักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพได้ทราบข่าวในเวลากะทันหัน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนตาบอดทุกคนมีความตื่นเต้นยินดีที่จะได้มีโอกาสรับเสด็จ ทุกคนเตรียมตัวกันอย่างเต็มที่ และยิ่งตื่นเต้นดีใจกันมากที่จะมีโอกาสได้แสดงความสามารถของตนเมื่อคุณครูบอกให้นักเรียนเตรียมอ่านหนังสือเบรลล์ ดีดพิมพ์ดีด ร้องเพลง เล่นเปียโน ทำงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย จักสาน ทอผ้า ฯลฯ เพื่อถวายฯ ให้ทั้งสองพระองค์ได้ ทอดพระเนตร
ครั้นเวลาที่ทุกคนเฝ้ารอมาถึง คือ 17.00 น. คณะกรรมการ ครู อาสาสมัคร นักเรียน ได้เข้าแถวรอรับเสด็จฯ อย่างพร้อมเพรียงที่หน้าตึกอำนวยการ นายปิยะ โกศินานนท์ รับหน้าที่เล่นเปียโน เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงพระราชนิพนธ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาถึงและเสด็จฯ สู่ตึกอำนวยการ พระองค์ท่านได้พระราชทานหีบดนตรี ซึ่งมีพระบรมนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์ให้แก่โรงเรียน ยังความปลาบปลื้มให้แก่คณะกรรมการ ครู และนักเรียนทุกคนเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเปิดหีบดนตรี แล้วเพลงไพเราะก็ดังกังวานขึ้น บรรยากาศเงียบสงบ ทุกคนฟังอย่างตั้งใจรู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงครั้งนั้นเพราะถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษสุดของทุกชีวิตที่ได้รับพระราชทานหีบดนตรี ซึ่งถือว่ามีชิ้นเดียวในประเทศไทยที่พระองค์ท่านทรงนำมาจากทวีปยุโรป
จากตึกอำนวยการ คณะกรรมการได้เชิญเสด็จฯ ทอดพระเนตรนักเรียนตาบอดดีดพิมพ์ดีดทั้งไทย และอังกฤษ พิมพ์ และอ่านอักษรเบรลล์ ทำงานฝีมือ ฯลฯ จากนั้นจึงได้เชิญเสด็จฯ ประทับในสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ ในระหว่างนั้นนักเรียนตาบอดร้องเพลงไทยและสากลถวาย จากนั้นผู้แทนของนักเรียนตาบอดก็ได้ถวายกระเช้าสานบรรจุผลไม้สดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และถวายกระเป๋าถักติดดอกไม้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ นางสาวสหัทยา โชติกเสถียร นักเรียนตาบอดซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนและเป็นครูอนุบาลอยู่ในขณะนั้นได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าในนามตัวแทนของนักเรียนตาบอด และกราบบังคมทูลฯสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานกระแสรับสั่งสัก 2-3 พระกระแส เพื่อคนตาบอดจะได้มีโอกาสรับฟังพระสุรเสียงแทนการชมพระบารมีด้วยนัยน์ตา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ออกมาประทับยืนหน้าเหล่านักเรียนตาบอด แล้วทรงมีพระราชดำรัสกับบรรดานักเรียนด้วยพระสุรเสียงนุ่มนวลไพเราะจับใจ อันเป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของทุกชีวิตที่มีโอกาสได้ฟังอยู่ ณ ที่นั้นมิรู้ลืม
ด้วยความสนพระทัยและด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาต่อนักเรียนตาบอด ในวันที่ 14 มกราคม 2495 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพก็ได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์อุปถัมภ์อีกครั้ง โดยได้ทรงนำผลไม้และช็อกโกแลตเป็นจำนวนมากมาพระราชทานแก่เด็กตาบอด ซึ่งทุกคนรู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ท่านเสมอมา
วันที่ 22 มกราคม 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงนำอาหารพระราชทานแก่เด็กนักเรียน ในวันนั้นเด็กนักเรียนรับประทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อยและจิตใจเบิกบานราวกับมีงานฉลองอันใหญ่โต เมื่อถึงโอกาสวันขึ้นปีใหม่ หรือวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์จะทรงมีพระเมตตาพระราชทานเลี้ยงอาหารแก่เด็กตาบอด
ในวันขึ้นปีใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจะทรงเมตตาต่อคนตาบอดเป็นอย่างยิ่ง ท่านทรงรับคนตาบอดไปเลี้ยงอาหารที่พระราชวังสวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเจ้าฟ้าทุกพระองค์ทรงรับสั่งกับเด็กตาบอดโดยไม่ถือพระองค์ในระหว่างที่เด็กๆ รับประทานอาหาร ท่านได้เสด็จฯ ผ่านมาทรงทักทาย ตรัสถามเด็กๆว่า "อร่อยไหม" เด็กก็จะบอกว่า "อร่อยครับ" โดยที่ไม่ทราบว่ากำลังตอบคำถามต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ท่านเนื่องจากมองไม่เห็น และมีเด็กบางคนแอบกระซิบกันว่า ในหลวงนี่เสียงเพราะจัง โดยที่ไม่ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับยืนอยู่ตรงนั้น ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาก็จะทรงให้มหาดเล็กนำขนมเค้กขนาดใหญ่และไอศกรีมมาพระราชทานให้คนตาบอด จนเด็กบางคนบอกว่าอยากให้พระเจ้าอยู่หัวฯ เกิดทุกวันเลย และพอใกล้ๆ จะถึงวันที่ 5 ธันวาคม และ 12 สิงหาคม เด็กๆ ก็จะบอกว่าจวนแล้วๆ จวนจะได้เค้กแล้ว
การเสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดแต่ละครั้งพระองค์ท่านจะทรงใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนนานนับชั่วโมง เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ทอดพระเนตรละครคนตาบอดพระองค์ท่านทรงเมตตาคนพิการเป็นอย่างมาก ทรงจับมือเด็กๆทีละคนโดยไม่ถือพระองค์ พร้อมกับรับสั่งถามเด็กตาบอดว่า "หิวข้าวไหม สบายดีหรือเปล่า ปวดท้องไหม" เด็กก็จะตอบด้วยความตื่นเต้นว่า "สบายดีครับ เอ๊ย! พะย่ะค่ะ" เมื่อท่านทรงได้ยินและทรงได้เห็นท่าทางตื่นเต้นของเด็กๆ ท่านก็ทรงพระสรวล
ครั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ กลับ เด็กๆก็จะคุยกันว่า "มือพระเจ้าอยู่หัวฯ นี่เย็นเหลือเกิน" บางคนก็บอกว่าสมเด็จพระราชินี "หอมน้ำอบเหลือเกิน" หรือ "พระเจ้าอยู่หัวฯ เสียงเพราะ"
ข้างต้นคือภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่คุณสหัทยา โชติกเสถียร นักเรียนตาบอดรุ่นแรกของโรงเรียนและเป็นครูสอนชั้นอนุบาลอยู่ในขณะนั้น สามารถสัมผัสได้ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ เธอจดจำเรื่องราวต่างๆได้อย่างละเอียดและชัดเจน แม้ปัจจุบันวัยของเธอจะล่วงเลยมาถึง 78 ปี แต่ภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ยังคงเป็นเรื่องราวที่ตราตรึงอยู่ในดวงจิตของเธอและคนตาบอดทุกชีวิต ราวกับว่าเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระเมตตาแก่เด็กตาบอดของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ทรงโปรดให้นักเรียนตาบอดหลายคนที่เป็นนักร้องและนักดนตรีของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ อาทิ คุณปิยะ โกศินานนท์ นักเปียโน และคุณสหัทยา โชติกเสถียร ซึ่งเป็นนักร้องของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เข้าเฝ้าและทรงร่วมเล่นดนตรีกับคนตาบอด
ครั้งหนึ่งเมื่อนักเรียนตาบอดเข้าแถวรับเสด็จ ก่อนรับพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน พระองค์ท่านเสด็จฯ ผ่านแถวพวกเราแล้วมีรับสั่งถามว่า “พวกหนูอยากได้อะไร” พวกเราเด็กเล็กเงียบ ประหม่า แต่มีรุ่นพี่เด็กโตคนหนึ่งกราบทูลขึ้นว่า “อยากได้แซกโซโฟนพระพุทธเจ้าค่ะ” พระองค์ทรงพระสรวลเบาๆ แล้วรับสั่งถามต่อว่า “เล่นเป็นมั้ย” ทูลตอบว่า “ยังเล่นไม่เป็นพระพุทธเจ้าค่ะ” หลังจากวันนั้นอีกประมาณ 1 เดือน รุ่นพี่ของพวกเราคนนั้นก็ดีใจสุดขีด เมื่อคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ได้นำตัวเข้าเฝ้าที่พระราชวังเพื่อรับพระราชทานแซกโซโฟน นอกจากนั้นยังมีรับสั่งให้เด็กตาบอด 2 คน เข้ามาเรียนการเป่าแซกโซโฟนสัปดาห์ละ 3 วัน โดยพระองค์ทรงสอนพระราชทานด้วยพระองค์เอง
"มีอยู่ครั้งหนึ่งเด็กตาบอดได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเล่นดนตรีถวายขณะรอรับเสด็จอยู่บนเวที ด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็พากันเข้าไปจับคลำเครื่องดนตรีทรงของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านเสด็จฯ มาเมื่อไรไม่มีใครทราบ คุณครูผู้คุมก็ไม่ได้บอก พระองค์ได้ทรงแนะนำเครื่องดนตรีต่างๆให้เด็กตาบอดทราบ เมื่อได้ยินพระสุรเสียง พวกเราตกใจ แต่พระองค์ทรงตรัสว่า "ไม่เป็นไร" แล้วพระองค์ก็ทรงจับมือเด็กตาบอดไปคลำเครื่องดนตรีทุกชิ้น พร้อมกับทรงอธิบายถึงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นโดยละเอียด หลังจากนั้นประทับบนเวทีแล้วทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพหลายเพลง ทรงสอนให้เล่นเพลงประเภท Dixy Land และทรงสอนเทคนิค at lips เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีวันที่พวกเราแต่ละคนจะลืมได้เลยชั่วชีวิต” เป็นอีกภาพที่งดงามอยู่ในใจของ นายวิมล อ่องอัมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กตาบอดที่มีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดในตอนนั้นด้วย
ในปี พ.ศ. 2495 เมื่อครั้งที่โรงเรียนสอนคนตาบอดจัดงานบอลล์เพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เด็กตาบอดทุกคน ทรงมีรับสั่งให้นักร้องประจำโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ในขณะนั้นคือ คุณสหัทยา โชติกเสถียร เข้าเฝ้าเพื่อหัดร้องเพลง “ยิ้มสู้” ที่พระองค์ท่านได้พระราชนิพนธ์ ขึ้นเพื่อร้องในงานวันนั้น โดยพระองค์ท่านทรงสอนเนื้อร้องและทำนองให้ด้วยพระองค์เอง จากนั้นบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” จึงเป็นเพลงประจำโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพนับแต่นั้นมา