As long as you are helping the blind ?
You are adding to merit a thousand times
ตราบใดที่ท่านให้ความช่วยเหลือคนตาบอด
ท่านกำลังสั่งสมบุญกุศล เพิ่มขึ้นอีก พันเท่า ทวีคูณ
มิสเจเนวีฟ คอลฟีลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกันเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 2มกราคม พุทธศักราช 2482 ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนสอนคนตาบอด" โดยใช้บ้านหลังเล็ก ๆ ที่ถนนคอชเช่ ศาลาแดง นับเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมามีผู้มีจิตศรัทธาที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนได้ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิช่วยให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2482 นับเป็นมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดูแลการดำเนินงานของโรงเรียน โดยมี หลวงเลขาวิจารณ์ เป็นนายกมูลนิธิฯ
- ปีพุทธศักราช 2490 คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ประสานขอให้นักบวชหญิงคณะซาเลเซียน จำนวน 4 ท่าน มาดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นในโรงเรียน โดยมีซิสเตอร์โรส มัวร์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการโรงเรียน และนางสาวเวที อาวุธ เป็นครูใหญ่คนแรก
- ปีพุทธศักราช 2492 รัฐบาลสมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม อนุมัติให้เช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 8 ไร่เศษ ที่สี่แยกตึกชัย ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ตั้งจนถึงปัจจุบัน
- ปีพุทธศักราช 2503 โรงเรียนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ จัดอยู่ในประเภทโรงเรียนเอกชนการกุศลและภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น " โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ " เมื่อวันที่ 2 เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2520
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในโรงเรียนทั่วไปทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นทั้งชายและหญิง ทั้งที่อยู่แบบประจำและไปกลับ
ปัจจุบันโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนเอกชนการกุศล และจัดเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา ในสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตการศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้รับใบอนุญาตในนามมูลนิธิฯ และบริหารงานตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พุทธศักราช 2550 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2554
โรงเรียนจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ขอกระทรวงศึกษาธิการ โดยในระดับประถมศึกษาจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่
- กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
- กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
- กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
- กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
- กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
- กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ
- กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
ส่วนในระดับอนุบาลมีการจัดการเรียนการสอน 6 ทักษะ คือ
- ทักษะการช่วยเหลือตนเอง
- ทักษะการใช้กล้ามเนื้อใหญ่
- ทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก
- ทักษะภาษา การรู้หนังสือ
- ทักษะการคิด
- ทักษะทางสังคมและอารมณ์
นอกจากการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถทางด้านภาษา ดนตรี กีฬา เทคโนโลยี การทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ทักษะการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ตลอดจนให้ความสำคัญในการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติ และพฤติกรรม เพื่อให้นักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
ตราของโรงเรียน เป็น วงกลมซ้อนกันสองวง ภายในวงกลมวงนอกส่วนบน มีตัวอักษรสีดำ พื้นสีขาว คำว่า "โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ" ส่วนด้านล่างของวงกลมวงนอก มีตัวอักษรสีดำ พื้นสีขาว คำว่า "เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร" ส่วนวงกลมข้างในมีรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมุมตัด มีคำว่า "พัฒนา" เป็นตัวอักษรสีดำอยู่ด้านบนประภาคาร และคำว่า "คนตาบอด" อยู่ด้านล่างประภาคาร
ประภาคาร คือ กระโจมไฟที่ให้แสงสว่างแก่ผู้เดินทางในทะเลอันกว้างใหญ่เปรียบเสมือนกับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพที่ให้แสงสว่างและความหวังแก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น
สีดำ คือ ความมืด หมายถึง คนตาบอด
สีเหลือง คือ แสงสว่าง หมายถึง ความรุ่งโรจน์ ความหวัง สติปัญญา และคุณธรรม
สองสีรวมกัน หมายถึง การศึกษานำทางคนตาบอดให้มีสติปัญญาและคุณธรรมให้สามารถพึ่งพาตนได้
ปรัชญาโรงเรียน
“ ใฝ่ศึกษา พึ่งพาตนได้ รับใช้สังคม สั่งสมคุณธรรม”
“ใฝ่ศึกษา” หมายถึง ระดับปฐมวัย หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้พัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อให้ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542
- ระดับประถมศึกษา หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามศักยภาพ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
- ระดับมัธยมศึกษา (เรียนรวม) หมายถึง ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนร่วมในโรงเรียนมัธยมทั่วไปรวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้กับผู้เรียน
“พึ่งพาตนได้” หมายถึง ช่วยตนเองได้ในกิจวัตรประจำวัน การศึกษาและอาชีพ ลดภาระพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด มีความคิดอิสระ เชื่อมั่นในตนเอง และสามารถแก้ปัญหาการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
“รับใช้สังคม” หมายถึง เป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสังคม บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ
“สั่งสมคุณธรรม” หมายถึง เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ปลูกฝังให้มีความกตัญญูกตเวที มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มีระเบียบวินัย รับผิดชอบ มีเมตตากรุณา มีความเสียสละ รู้จักประหยัด อดทน และมีสัมมาคารวะ
วิสัยทัศน์
จัดการศึกษาอันเป็นเลิศควบคู่ไปกับคุณธรรม ส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นและที่มีความพิการซ้อนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง เปิดโอกาสให้ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่เต็มเปี่ยม และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคโดยได้รับการยอมรับจากนานาชาติในด้านการจัดการ เทคโนโลยีดิจิทัล และการมีส่วนร่วมช่วยเหลือชุมชน ในปี พ.ศ. 2567
พันธกิจ
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ด้านการบริหาร
1. การพัฒนาโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน
2. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรโดยมีส่วนร่วมและยึดหลักธรรมาภิบาล
3. การพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานทั้งด้านการจัดการศึกษาและการบริหารอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานทั้งในระดับชาติและระดับสากล
ยุทธศาสตร์ด้านบรรยากาศ
1. การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงาน
2. การสร้างพฤติกรรมเชิงบวกในการปฏิบัติงานและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลากรอย่างเป็นระบบ
3. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการสร้างพฤติกรรมเชิงบวก
ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเป็นมืออาชีพ
1. การพัฒนาความเป็นมืออาชีพสำหรับบุคลากรทุกระดับในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
2. การพัฒนาระบบการสร้างความเป็นมืออาชีพที่มีมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ด้านหลักสูตรและการสอน
1 การพัฒนาหลักสูตรที่มีคุณภาพ
2 การจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
3 การพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการ ดนตรี กีฬา ภาษา และเทคโนโลยี
4 การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
5 การพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตร และกิจกรรมหลังเวลาเรียน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
6 การพัฒนาสื่อเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
7 การจัดทำแผนเปลี่ยนผ่านสำหรับนักเรียน
ยุทธศาสตร์ด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน
1. การพัฒนาการปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ
2. การพัฒนาความร่วมมือและความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม
3. การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและการแบ่งปันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ