ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด เป็นหน่วยงานหนึ่งของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ถือกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มของ คุณณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ซึ่งเคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ได้เห็นนิตยสารเบรลล์และแผ่นเสียงที่ส่งมาจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้พิการทางสายตาที่อ่านและฟังภาษาอังกฤษออกมีโอกาสได้รับรู้ วรรณกรรม เมื่อเทคโนโลยีในเรื่องการผลิตหนังสือเพื่อผู้พิการทางสายตาเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น และมีราคาถูกลง จึงได้คิดทำหนังสือเสียงให้ผู้พิการทางสายตาโดยอ่านลงเทปคาสเซ็ทและทำ หนังสืออักษรเบรลล์ที่พิมพ์ด้วยมือ สามารถพิมพ์ได้ครั้งละ 1 ชุด พร้อมสร้างห้องสมุดเล็ก ๆ ภายใน ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด
จากการบริหารงานของห้องสมุดเป็นผลดีและมีประโยชน์ต่อผู้พิการทางสายตา จึงได้รับการปรับรวมเข้าเป็นหน่วยงานหนึ่งของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ ในปี
พ.ศ. 2520 ได้สร้างอาคารถาวร 2 ชั้น 1 หลัง โดยใช้ชื่อว่าห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ผู้นำแสงแห่งปัญญามาสู่ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย
ภายหลังมีการเพิ่มขอบข่ายการทำงานและพัฒนาด้านการผลิตสื่อ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยรวมทั้งมีบุคลากรเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการสื่อของผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ ที่นับวันจะมีความต้องการมากขึ้น จึงได้สร้างอาคารถาวร 2 ชั้น หลังที่ 2 ขึ้น เมื่อปี
พ.ศ. 2540 โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด” จนถึงปัจจุบัน