ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด เป็นหน่วยงานสุดท้ายของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้งขึ้นปี
พ.ศ. 2525 โดยได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวง กุฟตาส โรเซนต์ เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับประชาชนชาวเบลเยียม และสภาสังฆราชคาทอลิคเยอรมันตะวันตก ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทยฯ ได้เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นเงินประมาณ 8 ล้านบาท สำหรับสร้างอาคารโรงงานขนาด 12x40 เมตร 1 หลัง บ้านพักทาวน์เฮ้าส์ 2 ห้องนอน 8 ยูนิต ซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการประกอบงานไม้ ในเนื้อที่ 5 ไร่เศษ เริ่มเปิดดำเนินงานเมื่อปี
พ.ศ. 2527 และวันศุกร์ที่ 3 เมษายน
พ.ศ. 2530 พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ เปิดศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดอย่างเป็นทางการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ทำงานชั่วคราวของผู้บกพร่องทางการเห็นที่ผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานมาแล้ว จากสถาบันคนตาบอดทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการเห็นมีประสบการณ์และความชำนาญในงานแต่ละด้านมากขึ้น และสามารถทำงานในสถานที่ต่างๆ ภายนอกได้ โดยดำเนินงานในรูปสหกรณ์แบ่งปันผลกำไรตามส่วนจากการขายผลผลิตให้แก่ผู้บกพร่องทางการเห็น เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการเห็นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้บกพร่องทางการเห็นเป็นผู้บริหารงานของศูนย์ฯ โดยในระยะเริ่มแรกมีอาจารย์พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาทางด้านการบริหารซึ่งหลังจากปี
พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ศูนย์ฯ ดำเนินงานโดยมีผู้บกพร่องทางการเห็นเป็นผู้บริหาร และพยายามที่จะบริหารงานโดยเลี้ยงตนเองให้ได้ตามนโยบายของมูลนิธิฯ