ปรับขนาดตัวอักษร

ปรับขนาดตัวอักษร

AA

ปรับสี

แสดงแบบตาราง

ปิด
เปิด
ปรับขนาดตัวอักษร
โลโก้ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

FOUNDATION FOR THE BLIND IN THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF H.M. THE QUEEN

ผลิตภัณฑ์และบริการติดต่อมูลนิธิฯ
รูปภาพประวัติมิสเจเนวีฟ  คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ

ประวัติมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ

มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ เกิดที่เมืองซัฟฟอร์ด รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 พออายุได้เพียง 2 เดือนต้องประสบอุบัติเหตุ โดยมีผู้เผลอทำน้ำยาเคมีหกราดใบหน้าทำให้ต้องเสียดวงตาทั้งสองข้าง ท่านได้รับการศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และประกาศนียบัตรวิชาครูภาษาอังกฤษจากทรีนิตีคอลเลจ กรุงวอชิงตัน

ในปี พ.ศ. 2466 ได้เดินทางไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาสังคมและการเมืองในประเทศญี่ปุ่น ในระยะนี้เอง มิสคอลฟิลด์ได้มีโอกาสพบกับนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น คุณหมอฝนทำให้มิสคอลฟิลด์ได้ทราบว่าสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทยยังไม่มีใครให้ความสนใจหรือดำเนินการช่วยเหลือในด้านการศึกษาให้อย่างจริงจัง และด้วยการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคุณหมอฝน มิสคอลฟิลด์จึงได้เดินทางมาสำรวจสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทยเป็นระยะสั้น ๆ ในเวลาต่อมา และได้ตั้งใจว่าจะกลับมาช่วยเด็กตาบอดไทยให้ได้ แม้ด้วยทุนรอนและด้วยลำแข้งของตนเอง

ในปี พ.ศ. 2480 มิสคอลฟิลด์ได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ตระเวนแสดงปาฐกถาและสอนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งรวบรวมเงินทุนเบื้องต้นเพื่อการทำงานต่อในทวีปเอเชีย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2481 ได้เดินทางมาประเทศไทยโดยขึ้นเรือที่ประเทศสิงคโปร์และนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ

มิสคอลฟิลด์ได้เริ่มงานพัฒนาคนตาบอดไทย โดยการจัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กตาบอดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ที่บ้านหลังเล็ก ๆ ในซอยศาลาแดง สีลม ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และร่วมกันกับนักศึกษาไทยประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้นเมื่อเทียบกับอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษซึ่งมีพยัญชนะและสระรวมกัน 26 ตัวแล้ว ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เพราะอักษรเบรลล์ภาษาไทยมีพยัญชนะ 44 ตัว สระ 32 รูป วรรณยุกต์ 5 เสียง รวมทั้งเครื่องหมายต่าง ๆ อีก 4 รูป และด้วยความคิดที่ก้าวไกล มิสคอลฟิลด์ได้วางแนวทางที่จะจดทะเบียนมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยด้วย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องโยกย้ายนักเรียนตาบอด หลบภัยสงครามที่ราชบุรีและหัวหิน เมื่อสงครามสงบแล้วจึงย้ายกลับกรุงเทพฯ ตามเดิม

ในปี พ.ศ. 2490 มิสคอลฟิลด์ได้ขอให้ซิสเตอร์คณะซาเลเซียนมาช่วยดูแลนักเรียนแทน ในช่วงที่เดินทางไปญี่ปุ่นอีก 5 ปีต่อมาจึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทยและ พำนักที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งได้ย้ายมาตั้งอยู่บนพื้นที่ 8 ไร่ ถนนราชวิถี ซึ่งรัฐบาลสมัย จอมพลป. พิบูล สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้จัดหาให้ มิสคอลฟิลด์ได้เข้าช่วยงานในฐานะครูสอนหนังสือเด็ก ๆ และที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ โดยเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างให้มูลนิธิฯ เจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ มิสคอลฟิลด์ได้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดที่ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2499 และที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2503 ต่อมาได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล ด้วยผลงานอันมีค่ายิ่งต่อคนตาบอดนี้เอง จึงทำให้ท่านได้รับรางวัลต่าง ๆ ดังนี้

ปี พ.ศ. 2503 ได้รับเครื่องประดับเชิดชูเกียรติคุณจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะเสริมสร้างมิตรภาพอันดียิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ปี พ.ศ. 2504 ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ จากมูลนิธิรามอนแมกไซไซแห่งฟิลิปปินส์

ปี พ.ศ. 2506 ได้รับประกาศเกียรติคุณเมดัล ออฟฟรีดอม จากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในฐานะชาวอเมริกันผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ชาวโลก

ปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะผู้ทำความดีแก่ผู้พิการตาบอดด้วยความเสียสละและอุทิศตนอย่างแท้จริง

ปี พ.ศ. 2512 ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติงานด้านสวัสดิการสังคมชั้น 1 จากรัฐบาลเวียดนามใต้

มิสคอลฟิลด์ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลคามิลเลียน สุขุมวิท กรุงเทพฯ ด้วยโรคชราภาพ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 สิริอายุ 84 ปี

ร่างของท่านฝังไว้ ณ สุสานสามเสนในประเทศไทยอันเป็นแผ่นดินที่ท่านรักนี้เอง คณะศิษย์ตาบอดต่างสำนึกในพระคุณของมิสคอลฟิลด์ในฐานะผู้ให้กำเนิด การศึกษาของคนตาบอดในประเทศไทย จึงได้หาทุนและดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของท่าน ซึ่งประดิษฐาน ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กระทำพิธีเปิดโดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2526 ปฏิมากรคืออาจารย์มีเซียม ยิบอินซอย และได้จัดการชุมนุมศิษย์ตาบอดตลอดจนมิตรสหายของมิสคอลฟิลด์ ในวันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี

รูปภาพมิสคอลฟิลด์ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลคามิลเลียน สุขุมวิท กรุงเทพฯ ด้วยโรคชราภาพ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 สิริอายุ 84 ปี
รูปภาพโลโก้มูลนิธิ