ปรับขนาดตัวอักษร
ปรับสี
แสดงแบบตาราง
ปรับขนาดตัวอักษร
ปรับสี
แสดงแบบตาราง
มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ เกิดที่เมืองซัฟฟอร์ด รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 พออายุได้เพียง 2 เดือนต้องประสบอุบัติเหตุ โดยมีผู้เผลอทำน้ำยาเคมีหกราดใบหน้าทำให้ต้องเสียดวงตาทั้งสองข้าง ท่านได้รับการศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และประกาศนียบัตรวิชาครูภาษาอังกฤษจากทรีนิตีคอลเลจ กรุงวอชิงตัน
ในปี พ.ศ. 2466 ได้เดินทางไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาสังคมและการเมืองในประเทศญี่ปุ่น ในระยะนี้เอง มิสคอลฟิลด์ได้มีโอกาสพบกับนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น คุณหมอฝนทำให้มิสคอลฟิลด์ได้ทราบว่าสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทยยังไม่มีใครให้ความสนใจหรือดำเนินการช่วยเหลือในด้านการศึกษาให้อย่างจริงจัง และด้วยการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคุณหมอฝน มิสคอลฟิลด์จึงได้เดินทางมาสำรวจสถานภาพของคนตาบอดในประเทศไทยเป็นระยะสั้น ๆ ในเวลาต่อมา และได้ตั้งใจว่าจะกลับมาช่วยเด็กตาบอดไทยให้ได้ แม้ด้วยทุนรอนและด้วยลำแข้งของตนเอง
ในปี พ.ศ. 2480 มิสคอลฟิลด์ได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ตระเวนแสดงปาฐกถาและสอนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งรวบรวมเงินทุนเบื้องต้นเพื่อการทำงานต่อในทวีปเอเชีย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2481 ได้เดินทางมาประเทศไทยโดยขึ้นเรือที่ประเทศสิงคโปร์และนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ
มิสคอลฟิลด์ได้เริ่มงานพัฒนาคนตาบอดไทย โดยการจัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กตาบอดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ที่บ้านหลังเล็ก ๆ ในซอยศาลาแดง สีลม ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และร่วมกันกับนักศึกษาไทยประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้นเมื่อเทียบกับอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษซึ่งมีพยัญชนะและสระรวมกัน 26 ตัวแล้ว ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เพราะอักษรเบรลล์ภาษาไทยมีพยัญชนะ 44 ตัว สระ 32 รูป วรรณยุกต์ 5 เสียง รวมทั้งเครื่องหมายต่าง ๆ อีก 4 รูป และด้วยความคิดที่ก้าวไกล มิสคอลฟิลด์ได้วางแนวทางที่จะจดทะเบียนมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยด้วย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องโยกย้ายนักเรียนตาบอด หลบภัยสงครามที่ราชบุรีและหัวหิน เมื่อสงครามสงบแล้วจึงย้ายกลับกรุงเทพฯ ตามเดิม
ในปี พ.ศ. 2490 มิสคอลฟิลด์ได้ขอให้ซิสเตอร์คณะซาเลเซียนมาช่วยดูแลนักเรียนแทน ในช่วงที่เดินทางไปญี่ปุ่นอีก 5 ปีต่อมาจึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทยและ พำนักที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งได้ย้ายมาตั้งอยู่บนพื้นที่ 8 ไร่ ถนนราชวิถี ซึ่งรัฐบาลสมัย จอมพลป. พิบูล สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้จัดหาให้ มิสคอลฟิลด์ได้เข้าช่วยงานในฐานะครูสอนหนังสือเด็ก ๆ และที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ โดยเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างให้มูลนิธิฯ เจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ มิสคอลฟิลด์ได้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดที่ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2499 และที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2503 ต่อมาได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล ด้วยผลงานอันมีค่ายิ่งต่อคนตาบอดนี้เอง จึงทำให้ท่านได้รับรางวัลต่าง ๆ ดังนี้
ปี พ.ศ. 2503 ได้รับเครื่องประดับเชิดชูเกียรติคุณจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะเสริมสร้างมิตรภาพอันดียิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ปี พ.ศ. 2504 ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ จากมูลนิธิรามอนแมกไซไซแห่งฟิลิปปินส์
ปี พ.ศ. 2506 ได้รับประกาศเกียรติคุณเมดัล ออฟฟรีดอม จากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในฐานะชาวอเมริกันผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ชาวโลก
ปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะผู้ทำความดีแก่ผู้พิการตาบอดด้วยความเสียสละและอุทิศตนอย่างแท้จริง
ปี พ.ศ. 2512 ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติงานด้านสวัสดิการสังคมชั้น 1 จากรัฐบาลเวียดนามใต้