ปรับขนาดตัวอักษร
ปรับสี
แสดงแบบตาราง
ปรับขนาดตัวอักษร
ปรับสี
แสดงแบบตาราง
26 มีนาคม 2567
เมื่อพูดถึงความ “มืดมิด” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอะไร คำตอบในใจใครหลายคนคงไม่พ้น “ความไม่รู้” “ความเงียบเหงา” “ความกลัว” “ความโดดเดี่ยว” ถ้อยคำแห่งความรู้สึกเช่นนั้นมิได้ผิดจากความเป็นจริงเมื่อใครคนหนึ่งลองหลับตาและจินตนาการถึงชีวิตในโลกแห่งความมือ
ทว่าโลกของคนตาบอดแท้จริงแล้วต่างออกไป ในความมือสนิทนั้นพวกเราไม่ได้ไม่รู้ เงียบเหงา หวาดกลัว โดดเดี่ยวเสมอไป นั่นเพราะเมื่อเราเริ่มเคยชินกับความมืด เราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะสังเกตฟังเสียงที่สะท้อนมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว และเดินทางออกไปสู่โลกกว้าง
หากกล่าวให้ชัด การฟังเสียงสะท้อน (Echolocation ) และทักษะการเดินทาง( Mobility and Orientation) ถือเป็นทักษะสำคัญที่เชื่อมคนตาบอดแต่ละคนเข้ากับโลกภายนอก การสังเกตฟังเสียงรอบ ๆ ทำให้เรามีข้อมูลสำหรับคิด วางแผน ตัดสินใจ และเลือกเดินทางออกไปได้อย่างมั่นใจมากขึ้น การเดินทางก็ทำให้เรารู้สึกถึงอิสระภาพ ได้เห็นผู้คน เห็นสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไปในแต่ละแห่ง เห็นปัญหาของสังคมโลก กระทั่งเห็นแง่มุมที่เราจะทำการงานที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อผู้อื่นได้ ทักษะดังกล่าวจึงถือเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่คนตาบอดแต่ละคนจะขาดไม่ได้
สำหรับในประเทศไทย การเดินทางที่ผนวกเอาทฤษฎีการฟังเสียงสะท้อน (Echolocation) เข้าไว้ด้วยกันนั้น อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ที่ดาเนียล คิช (Daniel Kish) และกลุ่มคนตาบอดจากตะวันตก เพิ่งจะนำมาถ่ายทอดให้คนตาบอดในไทย
แท้จริงแล้วทักษะการฟังเสียงสะท้อนเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นเองโดยธรรมชาติ เมื่อคนตาบอดเริ่มชินกับความมืดและได้รับการพัฒนาฝึกฝนเป็นพิเศษสำหรับคนตาบอดที่เดินทางด้วยตนเองบ่อยขึ้นโดยสมองจะเริ่มเชื่อมโยงเสียงลักษณะต่าง ๆ เข้ากับภาพ ทำให้คนตาบอดพอจะรับรู้ภาพรอบตัวได้จากการแยกแยะเสียงที่ได้ยิน เช่น เมื่อเดินเข้าไปในห้องประชุม ลักษณะเสียงที่ก้องสะท้อนไปมาทำให้คนตาบอดรู้ว่าผนังกำแพงห้องเป็นปูน เสียงที่ถูกดูดซับหายไปทำให้รู้ว่าผนังห้องเป็นวัสดุเก็บเสียงที่มีลักษณะนิ่ม เสียงที่แผ่กระจายออกไปไกลและไม่สะท้อนกลับมาทำให้คนตาบอดรู้ได้ว่าห้องมีขนาดกว้าง เสียงที่สะท้อนกับกำแพงใกล้ ๆ ทำให้รู้ว่าห้องมีลักษณะแคบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการเดินทางที่ผนวกทฤษฎีเสียงสะท้อนเข้ามาใหม่นั้นก็ช่วยให้การพัฒนาฝึกฝนทักษะการฟังเสียงสะท้อนทำได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและละเอียดครอบคลุมยิ่งขึ้น ด้วยหลักสูตรดังกล่าวจะทำให้เรารู้จักการสร้างเสียงสะท้อนขึ้นเองผ่านการเดาะลิ้น (Tongue Clicks) ปรบมือ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยสร้างเสียงต่าง ๆ เพื่อจะได้รับรู้ภาพรอบตัวให้ได้มากที่สุด หลบหลีกสิ่งกีดขวางเบื้องหน้าได้ และเลือกตัดสินใจเดินไปยังทิศทางที่ต้องการได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
เสียงสะท้อนไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเดินทางไปอย่างถูกต้องแม่นยำปลอดภัย แต่ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความรู้สึกทางสุนทรียภาพของคนตาบอดด้วย กล่าวคือเมื่อเรารับรู้ภาพรอบตัวได้ละเอียดยิ่งขึ้นผ่านการแยกแยะเสียงลักษณะต่าง ๆ เราก็สามารถหยุดยืนดื่มด่ำกับภาพที่เกิดขึ้นในใจนั้นได้ เช่น เราอาจนั่งอยู่ที่สวนสาธารณะฟังเสียงสะท้อนจากต้นไม้ที่ปลูกเรียงอยู่เป็นแนว ฟังเสียงน้ำพุลอดม่านพุ่มไม้หากออกไปไกล ๆ เสียงกระพือปีกของนกที่โผขึ้นจากกิ่งไม้ของต้นไม้ต้นหนึ่งไปสู่อีกต้น เมื่อเราใส่ใจฟังเสียงและรู้จักสังเกตแยกแยะ สวนสาธารณะก็จะไม่เป็นเพียงแค่ทางเดินธรรมดา ๆ อีกต่อไป ทว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดของภาพชวนเพลิน
แม้ทักษะการเดินทางและเสียงสะท้อนจะช่วยให้คนตาบอดเดินทางไปได้อย่างอิสระ ปลอดภัยและเพลิดเพลิน แต่การสร้างเส้นทางคมนาคม สร้างทางเท้า และถนนที่ทนทาน ปลอดภัยได้มาตรฐานก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลไม่อาจละเลยเช่นกันเพราะนอกจากจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศแล้ว ทางเดินที่ปลอดภัยได้มาตรฐานก็จะช่วยให้คนตาบอดเดินทางไปได้โดยปราศจากความกังวล ไม่ต้องคอยห่วงพะวงที่จะหลบสิ่งกีดขวาง จะเหยียบร่องน้ำขัง หรือสะดุดสิ่งใดจนเกิดอันตราย
หากคนตาบอดตั้งใจฝึกฝนพัฒนาทักษะการเดินทางและการฟังเสียงสะท้อนของตนเอง รัฐบาลเองก็มีนโยบายสร้างถนนหนทางที่เอื้อให้ทุกคนเดินทางไปได้อย่างสะดวก เช่นนี้โลกในความมืดก็จะไม่มืดมนอีกต่อไป กลับจะเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สวยงามและสว่างไสวด้วยแสงจากดวงใจที่พร้อมจะเกื้อกูลกันของเราทุกคน
2 พฤษภาคม 2568
1 พฤษภาคม 2568
1 พฤษภาคม 2568
1 พฤษภาคม 2568